บีโอไอท็อปฟอร์มทะลุ 1.13 ล้านล้าน ลั่นปี’68 ศูนย์กลางอุตฯเทคโนขั้นสูง-AI

บีโอไอท็อปฟอร์มปี’67 ยอดขอส่งเสริมทะลุ 1.13 ล้านล้าน สูงสุดรอบ 10 ปี จำนวนโครงการทะลัก 3,137 โครงการ สูงสุดนับแต่ก่อตั้งบีโอไอ ตอกย้ำไทยฐานลงทุนท่ามกลางสงครามการค้า ส่วนปี’68 เดินหน้าดึงอุตฯไฮเทค AI ต่อเนื่อง

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในปี 2567 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุน ทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน มีจำนวน 3,137 โครงการ เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับปีก่อน นับว่าเป็นยอดจำนวนโครงการที่สูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบีโอไอ และมีมูลค่าเงินลงทุน 1,138,508 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 35% สูงสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งเป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อม ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่รองรับอุตสาหกรรม ไฟฟ้าที่มีความเสถียรและมีศักยภาพด้านพลังงานสะอาด บุคลากรที่มีคุณภาพ ซัพพลายเชนที่ครบวงจร ต้นทุนการประกอบธุรกิจที่เหมาะสม มาตรการสนับสนุนต่าง ๆ ของรัฐบาล สิทธิประโยชน์และการบริการต่าง ๆ ของบีโอไอ

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมดิจิทัล 243,308 ล้านบาท 150 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการ Data Center และ Cloud Service โดยบริษัทชั้นนำจากทั้งสหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และไทย เงินลงทุนรวมกว่า 240,000 ล้านบาท นอกจากนี้ จะเป็นกิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล และดิจิทัลคอนเทนต์

(2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 231,710 ล้านบาท 407 โครงการ กิจการที่มีการลงทุนสูง เช่น การผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และวัตถุดิบสำหรับ PCB จำนวน 83 โครงการ เงินลงทุนรวม 86,426 ล้านบาท

นอกจากนี้ ก็มีโครงการผลิตชิป (Wafer) การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ (IC Design) การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวม การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ

(3) อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 102,366 ล้านบาท 309 โครงการ ประกอบด้วย โครงการลงทุนผลิตรถยนต์ EV และ ICE โดยค่ายญี่ปุ่น จีน และยุโรป การผลิตยางล้อรถยนต์ ยางล้ออากาศยาน ระบบอัจฉริยะในรถยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ต่าง ๆ

(4) อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร 87,646 ล้านบาท 329 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการผลิตอาหาร เครื่องดื่มและสิ่งปรุงแต่งอาหาร กิจการผลิตอาหารสัตว์ กิจการผลิตน้ำมันหรือไขมันจากพืชหรือสัตว์ กิจการผลิตบรรจุภัณฑ์จากผลผลิตหรือเศษวัสดุทางการเกษตร กิจการขยายพันธุ์สัตว์และเลี้ยงสัตว์

(5) อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 49,061 ล้านบาท 235 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเคมีภัณฑ์ พอลิเมอร์ชนิดพิเศษ พลาสติกสำหรับอุตสาหกรรม และบรรจุภัณฑ์ชนิดหลายชั้น สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ขยายตัวดี มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 2,050 โครงการ เพิ่มขึ้น 51% เงินลงทุนรวม 832,114 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25%

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับประเทศไทยเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่มีความเป็นกลางและน่าเชื่อถือของภูมิภาค ทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา รวมถึงกลุ่มนักลงทุนจากญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน และยุโรป ก็ยังเดินหน้าขยายการลงทุนในไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

ทำให้ในปี 2568 บีโอไอพร้อมจะเดินหน้าดึงการลงทุนเพื่อสร้างฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ แบตเตอรี่ เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อัจฉริยะ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ดาต้าเซ็นเตอร์และบริการคลาวด์ เทคโนโลยี AI และดิจิทัลขั้นสูง และเทคโนโลยีชีวภาพให้ได้

16/1/2568  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 16 มกราคม 2568 )