“เอกนัฏ” ผุดนิคมฯแฝด “ไทย-จีน” ตั้งโรงงานคู่ขนาน

“เอกนัฏ” บินเยือนจีนดิ่งไปกว่างโจว ถกโมเดลนิคมอุตสาหกรรมคู่แฝด พร้อมขนข้อแลกเปลี่ยนเพียบไปพบ BYD และ GACAION หวังเพิ่ม Local Content ในประเทศเร่งอุ้มซัพพลายเชนอุตสาหกรรมรถยนต์ ยอมรับค่ายรถดอดหารือคลังขอให้ออกมาตรการช่วยเงินดาวน์ หวังกระตุ้นการซื้อรถกลับคืนมา “บีโอไอ” เผยค่ายรถคลายกังวล ไม่ต้องผลิตชดเชยปีนี้ได้

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 5-7 มีนาคม 2568 ตนได้มีภารกิจสำคัญในการเดินทางไปเยือนประเทศจีน ที่เมืองกว่างโจว และเสิ่นเจิ้น โดยมีแผนในการหารือกับนักลงทุนในการทำโครงการนิคมอุตสาหกรรมคู่แฝด ซึ่งรูปแบบดังกล่าวจะเป็นทางจีนจะนำโรงงานมาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย และส่วนหนึ่งจะเป็นการชักชวนผู้ประกอบการไทยไปผลิตที่ประเทศจีน

เนื่องจากกว่างโจวได้รับการขนานนามว่าเป็นโรงงานของโลก เป็นประตูด้านใต้ของประเทศจีน และเป็นศูนย์กลางการผลิตหลักของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจู ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจชั้นนำของจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นเมืองที่มีการเติบโตเร็ว มีชื่อเสียงในด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เครื่องจักร และเป็นที่ตั้งของบริษัทจำนวนมากที่เชี่ยวชาญด้านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคคุณภาพสูง และถือเป็นหนึ่งในเมืองที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดในประเทศจีน มี GDP เติบโตทุกปี เนื่องจากการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วจึงทำให้เคยเป็นหนึ่งในเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดแห่งหนึ่งของจีน

แต่ปัจจุบันเมื่อการพัฒนาเมืองสีเขียวจึงกลายเป็นหนึ่งในเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในประเทศจีน ในขณะที่เสิ่นเจิ้นเป็นที่รู้จักในฐานะซิลิคอนวัลเลย์ของจีน มีความเป็นเลิศด้านการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเมืองนี้ผลิตโทรศัพท์มือถือ ไมโครคอมพิวเตอร์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ไฮเทคต่าง ๆ และยังเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยี

นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะหารือกับทาง GACAION และ BYD ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รายใหญ่ของจีนที่เข้ามาลงทุนในไทย เป้าหมายการเจรจาครั้งนี้จะมี 2-3 เรื่อง คือ แผนการผลิตรถ EV ชดเชยตามมาตรการ EV 3.0 และ 3.5 ตามที่ได้ให้สัญญาเอาไว้ ความร่วมมือด้านความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ที่ฝั่งรัฐบาลไทยจะสามารถให้ได้ และการเพิ่มมูลค่ากับซัพพลายเชนในฝั่งไทย เช่น การซื้อชิ้นส่วน ซึ่งอาจจะรวมไปถึงการเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content) ให้มากขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นของการกำหนดหรือบังคับว่าต้องไม่ต่ำกว่ากี่เปอร์เซ็นต์

“ที่ผ่านมาผมไปทั้งญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ และควรที่จะไปจีนด้วยเช่นกัน ผมจะไปพบทั้ง GACAION BYD รวมถึงหัวเว่ย เพื่อคุยว่าเราควรจะทำยังไงที่จะผลิตชดเชยตามจำนวนที่เขา Commit ไว้ และดูว่าส่วนที่เราจะเข้าไปช่วยเขาเพื่อให้เขาเพิ่มมูลค่ากับซัพพลายเชนในบ้านเรา แต่จะไปถึงปรับ Local Content หรือไม่นั้น อาจจะเป็นการหารือว่าต้องใช้ของที่ผลิตในบ้านเราให้มากขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้วถ้าทำดี ๆ ก็ไม่ต้องไปบีบหรือบังคับให้ต้องทำ

เพราะอย่างบริษัทของญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในไทยตอนแรกเข้ามาก็ยังต่ำ แต่เมื่อเวลาผ่านมาระยะหนึ่ง เราก็จะเห็นการใช้สัดส่วน Local Content ในรถกระบะสูงถึง 90% จีนก็เช่นเดียวกัน แทนที่จะเอากฎหมายไปทุบเขา แต่ควรพยายามไปคุยกับเขาว่าอยากให้ช่วยอะไรเพื่อให้มี Value มากขึ้น เป็นการแลกเปลี่ยนมากกว่าการไปบังคับ”

สำหรับสถานการณ์ของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศที่ยังไม่ดีขึ้น จากปัญหาหนี้ครัวเรือนทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อโดยเฉพาะรถกระบะนั้น ส่งผลกระทบทำให้ยอดขายรถในประเทศลดลงและส่งผลต่อการผลิตรถเช่นกัน ล่าสุดตนได้เข้าหารือกับทางกระทรวงการคลัง หลังจากที่ค่ายรถมีแนวคิดออกมาตรการกระตุ้นการซื้อรถโดยวิธีหนึ่งคือการช่วยเหลือเงินดาวน์ เพราะอาจเป็นแนวทางที่ช่วยให้อุตสาหกรรมรถยนต์กลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

“บริษัทรถยนต์เขาเข้ามาขอว่าเป็นไปได้ไหมว่า ถ้าออกแพ็กเกจสำหรับการซื้อรถที่ช่วยในส่วนของเงินดาวน์ และเขาจะได้เคลมภาษีหรือไม่ ซึ่งค่ายรถเขาก็มาขอคุย ส่วนนี้ผมมองว่ามันอาจจะไม่ง่าย แต่ผมดูเรื่องภาษีสรรพสามิตของกลุ่มรถที่ใช้ Local Content ในบ้านเรามากกว่า เช่น รถกระบะ อีโคคาร์ ผมกำลังคุยเรื่องโครงสร้างภาษีสรรพสามิตอยู่

ส่วนเรื่องการเคลมภาษี เขาก็อ้างว่าภาษีที่ไปเคลมเงินได้น้อยลง แต่ภาษีสรรพสามิตแต่ละปีจ่ายเพิ่มขึ้น ผมจึงต้องคุยกับคลังมากหน่อย ซึ่งคลังไม่จำเป็นต้องให้แบบนี้ก็ได้ แต่คลังต้องมาดูว่าการซื้อจะช่วยยังไงได้บ้าง เช่น การที่ให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันก็ทดแทนได้เช่นกัน ส่วนเรื่องรถกระบะมันคือตัวสำคัญ คนซื้อน้อยยอดขายมันน้อย กระทบกันไปหมดกับการผลิต ซึ่งน่าเสียดายมันเป็นรถที่ใช้ชิ้นส่วนในบ้านเรามาก ก็ต้องดึงส่วนนี้กลับมาให้ได้”

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ได้ขยายเวลาการผลิตชดเชยตามมาตรการ EV 3 ไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2567 โดยให้สามารถโอนไปผลิตชดเชยตามเงื่อนไขมาตรการ EV 3.5 และระงับการให้เงินอุดหนุนจนกว่าจะผลิตชดเชยได้ครบถ้วน ทำให้ค่ายรถที่เคยกังวลเรื่องดังกล่าวลดลง จึงไม่จำเป็นต้องผลิตชดเชยภายในปี 2568 นี้ก็ได้

ซึ่งขณะนี้เชื่อว่าค่ายกำลังดูสภาพตลาด แม้จะไม่มีใครตอบได้ว่าตลาดรถยนต์จะกลับมาเมื่อไร ค่ายรถก็หวังว่าจะดีขึ้น ไม่เพียงการรอมาตรการจากภาครัฐ แต่ฝั่งค่ายรถก็ปรับตัวด้วยการเพิ่มสัดส่วนการส่งออก สามารถผลิตได้ทั้งพวงมาลัยซ้ายขวาได้ นับเป็นการปรับตัวเพื่อให้รอดและเเข่งขันได้ ทั้งนี้จากการหารือกันในบอร์ด EV ต่างให้แนวทางที่ต้องกลับไปแก้ไขถึงสาเหตุหลักที่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์หดตัว ซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่ฝั่งผู้ผลิต แต่มันคือฝั่งดีมานด์ กำลังซื้อในประเทศไม่มี ด้วยหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง นี่คือสิ่งที่ต้องกลับมาแก้ก่อนในวันนี้

8/3/2568  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 8 มีนาคม 2568 )