อัพเดตแผน Aviation Hub บวท.ปั้นสนามบินเทียบชั้นฮีโทรว์

นโยบาย Aviation Hub หรือ “ฮับการบิน” เป็น 1 ใน 8 วิสัยทัศน์ ของรัฐบาลเพื่อไทย ตั้งแต่ยุครัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ต่อเนื่องถึงรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ดึงเม็ดเงินหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ

ดังนั้น รัฐบาลจึงวางแผนในการศึกษาแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินในประเทศ ไม่ว่าสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินหัวเมืองใหญ่ ๆ อย่าง ภูเก็ต กระบี่ และอีกหลายสนามบิน เพื่อรองรับปริมาณเที่ยวบิน 1.2 ล้านเที่ยวบินในปี 2568 และรองรับปริมาณเที่ยวบิน 2 ล้านเที่ยวบินในปี 2580 ตั้งเป้าสู่ความเป็น Aviation Hub ให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจำนวน 120 ล้านคน และปริมาณการขนส่งสินค้า Cargo จำนวน 3 ล้านตันภายในปี 2570 ตามเป้าหมาย

ฮีโทรว์-ฟูกูโอกะต้นแบบ

หนึ่งในหน่วยงานสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินคือ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. กล่าวว่า หน้าที่ของ บวท.ในการทำให้ไทยเป็น “ฮับการบิน” ต้องประสานงานในระดับนานาชาติสร้างเส้นทางการบิน ขยายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อทำให้ไทยเป็นฮับการบิน ขณะเดียวกันสนามบินในประเทศที่เป็น International Airport ต้องทำให้ได้มาตรฐานนานาชาติ

โดยจะใช้กลไกในการเปรียบเทียบสมรรถนะของสนามบินของไทย เช่น ระดับสนามบินขนาดใหญ่ ระดับแสนเที่ยวบินต่อปี ทั้งสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ อนาคตคือสนามบินอู่ตะเภา สนามบินอันดามัน สนามบินล้านนา จะเทียบสมรรถนะกับสนามบินฮีโทรว์ของประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นสนามบินที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ เที่ยวบินระดับแสนเที่ยวต่อปี ระดับที่สอง สนามบินขนาด 1 รันเวย์ เช่น สนามบินภูเก็ต ซึ่งมีความสามารถในการรองรับของทางวิ่ง 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จึงต้องมีแผนเพิ่มขีดความสามารถของสนามบิน เพราะเมื่อเทียบสมรรถนะกับสนามบินฟูกูโอกะ ที่มี 1 รันเวย์ แต่สามารถรับเที่ยวบินได้ 38 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

ดังนั้น บวท.จึงศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพ โดยนำสนามบินฟูกูโอกะมาเป็นคู่เทียบ Benchmark เพื่อเป็นแนวทางในการเพิ่มศักยภาพ ปรับปรุงสนามบินภูเก็ตให้รองรับเที่ยวบินได้มากขึ้น โดยมีเป้าหมาย 35 เที่ยวบินต่อชั่วโมงในปี 2568 ซึ่งจะทำประโยชน์ให้กับประเทศไทยได้มหาศาล นอกจากนี้ยังจะไปปรับใช้กับสนามบินเชียงใหม่ สนามบินหาดใหญ่ สนามบินกระบี่ สนามบินสุราษฎร์ธานี ให้มีขีดความสามารถสูงในระดับนานาชาติได้

เตรียมกู้ลงทุน 3,600 ล้าน

ด้านการลงทุนขนาดใหญ่ของ บวท. มีแผนการลงทุนใน 3 สนามบิน ประกอบด้วย สนามบินอู่ตะเภา สนามบินอันดามัน และสนามบินล้านนา แห่งละ 1,200 ล้านบาท รวม 3,600 ล้านบาท เพื่อลงทุนหอบังคับการบินและระบบการจราจรทางอากาศ โดยกู้เงินจาก Exim Bank หรือธนาคารกรุงไทย รัฐไม่ต้องค้ำประกัน ไม่เป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งศักยภาพในการกู้เงินของ บวท.ไม่น่ามีปัญหา รายได้เกินหมื่นล้านต่อปี ซึ่งสนามบินอู่ตะเภา บวท.มีแผน เราติดตั้งเสร็จใช้งานได้ คือ ธันวาคม 2572 ส่วนสนามบินอันดามัน และสนามบินล้านนา

ขณะนี้ได้จ้างให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจ ขนาดโครงการ การเวนคืนที่ดิน เพื่อให้ดูขนาดของโครงการ ซึ่งคาดว่าในการก่อสร้างสนามบิน ทั้งสนามบินอันดามัน และสนามบินล้านนา ซึ่งใน 2 สนามบินนี้ต้องเซ็นสัญญาก่อนเลือกตั้ง 2570 เสร็จในปี 2573

นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กล่าวว่า ความสำคัญของสนามบินไทยในอนาคต ในแต่ละภูมิภาคจะมีเป็นการเชื่อม 3 สนามบินต่อเนื่องกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพขีดความสามารถของสนามบิน กลุ่มแรก ประกอบด้วย สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และสนามบินอู่ตะเภา กลุ่มที่ 2 สนามบินภูเก็ต สนามบินกระบี่ โดยมีสนามบินอันดามัน ที่ อ.โคกกลอย จ.พังงา ตั้งตรงกลาง กลุ่มที่สาม สนามบินเชียงใหม่ สนามบินลำปาง มีสนามบินล้านนา ที่บ้านธิ จ.ลำพูน ตั้งอยู่ตรงกลาง

นอกจากนี้ AOT ก็ยังขยายสนามบินเดิม ทั้งภูเก็ต และสนามบินเชียงใหม่ เช่น สนามบินเชียงใหม่ได้ขยายหลุมจอดด้วยเช่นกัน

อัพเกรดหอการบินอัจฉริยะ

นอกจากนี้ บวท. อยู่ระหว่างพัฒนาแนวทางการใช้งานระบบหอบังคับการบินอัจฉริยะ หรือ Digital Tower ซึ่งเป็นระบบ AI ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการให้บริการจราจรทางอากาศ ช่วยให้เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศสามารถมองเห็นภาพที่สมจริงและครอบคลุมพื้นที่ของสนามบิน แก้ปัญหาจุดอับสายตา ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ และช่วยให้สามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้เพิ่มระดับความปลอดภัยการใช้งานทางวิ่ง ทางขับ เพิ่มความปลอดภัยในการให้บริการจราจรทางอากาศ และทำให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น

อีกทั้งยังสามารถพัฒนารองรับการขยายสนามบินในอนาคตโดยไม่ต้องสร้างหอควบคุมการจราจรทางอากาศใหม่เพิ่ม สามารถพัฒนาเป็นหอควบคุมการจราจรทางอากาศสำรอง (Contingency/Backup Tower) รวมถึงพัฒนาเป็นห้องฝึกปฏิบัติจำลอง (3D Simulator) เพื่อใช้ในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศได้

โดยในระยะแรกมีแผนนำเทคโนโลยี Digital Tower เข้าใช้งาน ณ สนามบินที่มีความหนาแน่นสูง ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ และสมุย ในปี 2569 จากนั้นในระยะถัดไป จะเป็นการนำเข้าใช้งานสำหรับสนามบินที่มีปริมาณการจราจรทางอากาศน้อย ในลักษณะ Remote Tower เพื่อช่วยลดภาระในการส่งเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศไปประจำ ณ ท่าอากาศยานนราธิวาส และเบตง ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 2570

นอกจากนี้ บวท.ยังอยู่ระหว่างดำเนินการเชื่อมต่อข้อมูลระบบบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ หรือ Air Traffic Flow Management (ATFM) และ Airport Collaborative Decision Making (A-CDM) ซึ่งเป็นกระบวนการตัดสินใจร่วมกันของผู้ใช้งาน ผู้ให้บริการ และผู้ดำเนินงานสนามบินเข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจราจรทางอากาศและการบริหารความคล่องตัวจราจรทางอากาศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และขยายขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน

อัพเกรดสนามบินภูมิภาค

ศูนย์ควบคุมการบินส่วนภูมิภาคทั้ง 9 แห่งยังมีโครงการสำคัญ เพื่อยกระดับขีดความสามารถการให้บริการ (Provincial Air Traffic Control Center Excellent Initiative Program) และเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ ดังนี้

ศูนย์ควบคุมการบินภูเก็ต จัดทำโครงการรองรับการปฏิบัติการบินและการให้บริการอากาศยานทางทะเล หรือ Seaplane ที่มีแผนจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ภายในปี 2568 นี้

ศูนย์ควบคุมการบินเชียงใหม่ จัดทำโครงการบูรณาการความร่วมมือเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ในการสนับสนุนการปฏิบัติการบินภารกิจป้องกันและดับไฟป่าและบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)

ศูนย์ควบคุมการบินหาดใหญ่ จัดทำโครงการติดตั้ง 3D Aerodrome Simulator และจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศครบวงจร (Air Traffic Control Training Center) ภายในปี 2568 และจัดทำโครงการการนำระบบหอควบคุมจราจรทางอากาศอัจฉริยะ หรือ Digital Remote Tower เข้าใช้งาน ณ สนามบินหาดใหญ่ สนามบินนราธิวาส และสนามบินเบตง ภายในปี 2569

ศูนย์ควบคุมการบินพิษณุโลก จัดทำโครงการการให้บริการจราจรทางอากาศเขตสนามบิน ประเภท Aerodrome Flight Information Service หรือ AFIS สำหรับสนามบินที่มีปริมาณเที่ยวบินน้อย โดยใช้ระบบ AFIS ให้บริการจราจรทางอากาศแทนเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ ซึ่งมีแผนนำเข้าใช้งานครั้งแรกในประเทศไทย ณ สนามบินแพร่ และสนามบินเพชรบูรณ์ ภายในปี 2568

ศูนย์ควบคุมการบินหัวหิน บวท. มีแผนติดตั้งระบบเรดาร์ทุติยภูมิ (Secondary Surveillance Radar : SSR) ทดแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบติดตามอากาศยาน และประสานกับกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ในการปรับปรุงลักษณะทางกายภาพของสนามบิน เพื่อยกระดับสนามบินให้รองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ อีกทั้งร่วมสนับสนุนสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ในภารกิจของศูนย์ฝึกอบรมนักบินพลเรือน รวมถึงการจัดทำโครงการ AFIS ณ สนามบินตราด

ตั้งสนามบินน้ำที่สุราษฎร์

ศูนย์ควบคุมการบินสุราษฎร์ธานี สนับสนุนการจัดตั้งสนามบินน้ำ เพื่อรองรับการปฏิบัติการบินอากาศยานทางทะเล หรือ Seaplane รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาการให้บริการอากาศยานไร้คนขับเพื่อการขนส่ง (Advance Air Mobility : AAM) ณ สนามบินสมุย

ศูนย์ควบคุมการบินอุดรธานี ดำเนินโครงการต้นแบบ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการใช้งานโดรนทางการเกษตรในพื้นที่ห้วงอากาศควบคุม ภายใต้ “โครงการโดรนเกษตรปลอดภัย” ให้ถูกต้องตามกฎระเบียบ และเกิดความปลอดภัย ณ จังหวัดนครพนม หรือนครพนมโมเดล โดยมีแผนจะนำองค์ความรู้ขยายผลไปใช้ในพื้นที่ทางการเกษตรอื่น ๆ ทั่วประเทศต่อไป

ศูนย์ควบคุมการบินอุบลราชธานี ดำเนินโครงการรณรงค์การใช้ห้วงอากาศปลอดภัย ในการจุด/ปล่อยบั้งไฟ ในช่วงเทศกาลตามประเพณีท้องถิ่น

ศูนย์ควบคุมการบินนครราชสีมา จัดทำโครงการจัดตั้งศูนย์ต้นแบบการให้บริการข่าวสารการบินนอกพื้นที่ห้วงอากาศควบคุม บริเวณจังหวัดบุรีรัมย์ (Flight Information Service หรือ FIS) แห่งแรกในประเทศไทย และร่วมสนับสนุนโรงเรียนการบิน ในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมนักบินเอกชน ของบริษัท Bangkok Aviation Center จำกัด (BAC)

9/3/2568  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 9 มีนาคม 2568 )

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถยอมรับการให้ใช้คุกกี้ได้ โดยคลิก นโยบายความเป็นส่วนตัว