รพ.ธนบุรี ปรับกลยุทธ์ธุรกิจปี’68 ปูพรมโปรเจ็กต์ขยายฐานสปีดการเติบโต

รพ.ธนบุรีปรับกลยุทธ์หลังได้แม่ทัพใหม่ “นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์” มือดีจาก?ศิริราชกุมบังเหียน มุ่งเป้า “โรงพยาบาลที่ผู้ป่วยเลือกได้” เดินหน้าเปิดคลินิกเฉพาะทาง หวังขยายฐานเจาะสูงวัย-กลุ่มหลากหลายทางเพศ พร้อมผนึกพันธมิตรชิงต่างชาติ โหมสื่อสารสร้างแบรนด์ ก่อนลงทุนปรับพื้นที่รอบ 48 ปี เพิ่มศักยภาพลดความซ้ำซ้อน หวังสปีดการเติบโตสู่ 15% ในปี 2569

ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธนบุรี ในเครือบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง เนื่องจากไม่เพียงต้องแข่งขันกับโรงพยาบาลเอกชนด้วยกัน แต่ต้องแข่งกับโรงพยาบาลรัฐซึ่งมีจุดเด่นด้านความเข้าถึงง่ายด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เพื่อรับมือการแข่งขันที่ดุเดือดนี้ จะนำประสบการณ์การบริหารโรงพยาบาลศิริราชในฐานะ ผอ.ต่อเนื่องถึงหนึ่งทศวรรษ มาพัฒนากลยุทธ์สำหรับสร้างการเติบโตให้กับโรงพยาบาลธนบุรี

โดยมุ่งทำให้โรงพยาบาลธนบุรีเป็น The Most Trusted and Valued สำหรับผู้ป่วยทั้งในด้านการดูแลรักษาที่มีมาตรฐานคุ้มค่า มีจริยธรรมการแพทย์ และจริยธรรมทางธุรกิจ เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้ป่วยที่มีกำลังซื้อ ซึ่งปกติอาจใช้บริการคลินิกนอกเวลาของโรงพยาบาลรัฐเข้ามาใช้บริการ

ทั้งนี้ มีหลายโครงการที่จะเริ่มดำเนินการในช่วงปี 2568 ที่จะถึงนี้ เพื่อสปีดการเติบโตของโรงพยาบาล ตามเป้าจะเพิ่มอัตราการเติบโตในปี 2569 เป็น 15% หรือเท่าตัวจากอัตราการเติบโตในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ประมาณ 7-8% ต่อปี

ผู้อำนวยการ รพ.ธนบุรีแย้มว่า หนึ่งในโครงการที่จะเริ่มในปี 2568 คือการเปิดคลินิกเฉพาะทางสำหรับกลุ่มที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นเด็กแรกเกิดที่แม้จะมีแนวโน้มลดลง แต่พ่อแม่ผู้ปกครองพร้อมทุ่มลงทุนกับสุขภาพของบุตร เช่นเดียวกับผู้สูงวัยที่เพิ่มจำนวนขึ้นตามแนวโน้มสังคมสูงวัย และเป็นกลุ่มที่มีกำลังทรัพย์ รวมไปถึงผู้มีปัญหาจากความเครียด และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และต้องการการดูแลทั้งทางกาย-จิตใจเช่นกัน

ด้วยการเปิดคลินิกเฉพาะทางมาให้บริการ เช่น การฝากท้อง, ติดตามพัฒนาการเด็กหลังคลอด, การตรวจสุขภาพสูงวัย, การให้คำปรึกษาปัญหาการนอนจากความเครียด, วางแผนรับฮอร์โมนสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น เริ่มจากคลินิกการนอนหลับที่จะเปิดบริการช่วงต้นปี 2568 ที่จะถึงนี้

“หัวใจสำคัญคือ การวางผู้ป่วยไว้ที่ศูนย์กลางของปรัชญาการดูแลสุขภาพ ออกแบบบริการอย่างพิถีพิถัน เพื่อเคารพและตอบสนองความต้องการเฉพาะของผู้ป่วย ด้วยความเห็นอกเห็นใจและการดูแลอย่างเป็นส่วนตัว โดยตระหนักว่าผู้ป่วยแต่ละรายมาพร้อมกับความต้องการทางการแพทย์ ความชอบส่วนตัว และบริบททางอารมณ์ที่แตกต่างกัน”

โฟกัสผู้ป่วยมีประกัน-ต่างชาติ

พร้อมกันนี้จะโฟกัสดึงดูดผู้ป่วยที่มีประกันสุขภาพ ลูกค้าองค์กร และผู้ป่วยต่างชาติมากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และช่วยบาลานซ์ความเสี่ยงจากสภาพเศรษฐกิจ สะท้อนจากปัจจุบันเม็ดเงินจากกลุ่มผู้ชำระค่ารักษาด้วยตนเองเริ่มหดตัวลง ขณะที่กลุ่มผู้มีประกันและลูกค้าองค์กรเติบโตขึ้น

โดยตั้งศูนย์เคลมประกัน เพื่อตรวจสอบและแจ้งข้อมูลการเคลมให้กับผู้ป่วย รวมถึงประสานงานกับบริษัทประกันเพื่อให้การเคลมรวดเร็วขึ้น เพื่อตอบโจทย์ด้านความสะดวกของผู้เอาประกัน และสร้างความเชื่อมั่นกับบริษัทประกันไปพร้อมกัน

ส่วนการเจาะกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติ จะจับมือโรงพยาบาลธนบุรีบำรุงเมือง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กัน และมีฐานผู้ป่วยต่างชาติมาสร้างความร่วมมือแบบวิน-วิน ด้วยการส่งต่อผู้ป่วยต่างชาติมารับการรักษาในแผนกที่โรงพยาบาลธนบุรีมีความเชี่ยวชาญและเครื่องมืออยู่แล้ว ช่วยให้สามารถรับผู้ป่วยเข้ามารักษาได้โดยไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องมือราคาสูงซ้ำซ้อนกัน และเป็นโอกาสสร้างการรับรู้กับผู้ป่วยต่างชาติ

ทั้งนี้ วางเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากกลุ่มผู้มีประกันจาก 30% เป็น 35% ส่วนลูกค้าองค์กรเพิ่มจาก 6% เป็นดับเบิลดิจิต ส่วนสัดส่วนผู้ป่วยต่างชาติจะเพิ่มจาก 4-5% เป็นประมาณ 10%

ปรับพื้นที่-เปลี่ยนโฉมรอบ 48 ปี

ในส่วนของอาคารสถานที่ จะเดินหน้าปรับผังอาคารต่าง ๆ อาทิ การสร้างอาคารหลังใหม่สำหรับรวมแผนกผู้ป่วยนอก (OPD) ที่ซ้ำซ้อนกันจากอาคารอื่น ๆ มาไว้ที่เดียว เพื่อรวมศูนย์การทำงาน เพิ่มความสะดวกให้กับบุคลากรและผู้ใช้บริการ พร้อมกับเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการสร้างสวนหย่อม โดยต้นปี 2568 จะเปิดอาคารผู้ป่วยนอกแห่งใหม่ที่มีเทคโนโลยีการแพทย์ทันสมัย พร้อมฟังก์ชั่นด้านสิ่งแวดล้อมอย่างประหยัดพลังงาน, มีฟิลเตอร์กรองฝุ่น PM 2.5 ฯลฯ

ทั้งนี้ คาดว่าการปรับปรุงพื้นที่ทั้งหมดจะต้องใช้เวลาประมาณ 6-7 ปี จึงจะแล้วเสร็จตามแผน โดยในระหว่างนี้จะนำระบบนัดหมายและระบบคิวรอตรวจแบบใหม่มาใช้ ซึ่งผู้ป่วยสามารถนัดผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งไลน์, ตู้คีออสก์, คอลเซ็นเตอร์, เว็บไซต์ ฯลฯ ส่วนระบบคิวจะเป็นการออกเลขประจำตัวให้ผู้ป่วยเพื่อใช้เรียกคิวรับบริการตลอดกระบวนการรับบริการ

ดึงบุคลากรเจน Z เสริมทัพ

นพ.วิศิษฎ์ย้ำว่า บุคลากรเป็นหนึ่งในจุดที่โรงพยาบาลจะให้ความสำคัญ ทั้งการดึงบุคลากรรุ่นใหม่เจนซีเข้ามาเสริมทัพ และการกระตุ้นขวัญกำลังใจของบุคลากร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยในปี 2568 จะเริ่มใช้ระบบเส้นทางอาชีพ และค่าตอบแทนใหม่ เน้นแบบวิน-วินทั้งบุคลากรและองค์กร โดยผู้ที่ทำงานหนักและมีผลงานดีจะก้าวหน้าได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรเดิมหรือเข้าใหม่ รวมกับชูโอกาสการเรียนรู้ซึ่งต่างตอบโจทย์ความต้องการความก้าวหน้าของเจนซี

เชื่อว่าระบบใหม่นี้จะช่วยกระตุ้นให้บุคลากรมีกำลังใจในการทำงานและสร้างผลงานได้ดีขึ้น โดยที่โรงพยาบาลมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเพียง 1-2% เท่านั้น ซึ่งนับว่าคุ้มค่าเมื่อคำนึงว่าองค์กรนั้นขยับได้ด้วยคน

ยุคนี้มีของดีต้องโชว์

พร้อมกันนี้โรงพยาบาลจะปรับกลยุทธ์เน้นการสื่อสารเชิงรุกมากขึ้น หลังการบอกต่อแบบปากต่อปากนั้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ สะท้อนจากปัจจุบันแม้แต่ผู้บริโภคในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลจำนวนไม่น้อยยังไม่รู้จัก หรือไม่ทราบถึงจุดเด่นของโรงพยาบาลธนบุรี และกระแสข่าวเกี่ยวกับหมอบุญ วนาสิน ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังไม่เคยใช้บริการโรงพยาบาลธนบุรีมาก่อน

ด้วยเหตุนี้จึงตั้งทีมการตลาดโฟกัสสร้างแบรนด์โดยเฉพาะขึ้นมา เพื่อสื่อสารไปยังผู้บริโภคเริ่มจากกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ก่อนจะต่อยอดไปทั่วประเทศ มีโครงการไฮไลต์ อาทิ การสร้างอินฟลูเอนเซอร์จากบุคลากรในโรงพยาบาล ที่จะเริ่มในปี 2568

“การสร้างแบรนดิ้งของโรงพยาบาลธนบุรีให้ชัดเจนยิ่งขึ้นนี้ ไม่เพียงช่วยขยายฐานผู้ใช้บริการให้กว้างขึ้น แต่ยังจะช่วยลดผลกระทบจากกระแสข่าวที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ได้อีกด้วย”

5/12/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 5 ธันวาคม 2567 )