รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เลื่อน 3 เดือน “พิชัย” คาดเริ่มสร้างได้ เมษา’68

<p></p><p>บอร์ด EEC ให้รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินยึดการลงทุนเป็นแบบ PPP ส่งอัยการดูสัญญา “เอเชีย เอรา วัน” เซ็นสัญญาใหม่ต้องจบภายในเมษายน 2568 “จุฬา” ยอมรับเสียโอกาสพัฒนาพื้นที่ถึง 5 ปี ตลอดเส้นทางรถไฟ รวมถึงสถานีหลัก ทั้งฉะเชิงเทรา พัทยา สัตหีบ และสนามบินอู่ตะเภา ด้าน ร.ฟ.ท.จะลงทุนเองต้องมาจากนโยบายรัฐ</p><p> รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ. หรือบอร์ด EEC) ได้มีการประชุมไปเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 โดยบอร์ดได้รับทราบความคืบหน้าของการดำเนินการเพื่อแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งที่ประชุมได้สั่งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ EEC) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) หารือร่วมกันเพิ่มเติม เพื่อยืนยันว่าการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการครั้งนี้ยังคงเป็นไปตามหลักการเดิมของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP)</p><p> และได้มอบหมายให้ ร.ฟ.ท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อ 21 ของประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชน หรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (EEC Track) ซึ่งเป็นไปตามที่ได้หารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว</p><p> “พิชัย” ยันเริ่มก่อสร้าง เม.ย.นี้</p><p> นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานบอร์ด EEC กล่าวว่า ในการดำเนินการต่อไป ร.ฟ.ท.และเอกชนคู่สัญญาจะเจรจาร่างสัญญาแก้ไข เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารสัญญา คณะกรรมการกำกับดูแล และนำเสนอร่างสัญญาแก้ไขเสนอต่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา โดยเฉพาะเรื่องการตีความเหตุสุดวิสัย</p><p> หลังจากนั้น ร.ฟ.ท.จะเสนอร่างสัญญาแก้ไขที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดมายัง EEC เพื่อเสนอให้บอร์ด EEC และ ครม.พิจารณาเห็นชอบในการแก้ไข โดย ร.ฟ.ท.และเอกชนคู่สัญญาจะลงนามร่างสัญญาฉบับแก้ไขที่ ครม.เห็นชอบ และ ร.ฟ.ท.จะสามารถออกหนังสือแจ้งให้เอกชนคู่สัญญาเริ่มงานก่อสร้างโครงการ NTP ได้ทันที คาดว่าภายในเดือนเมษายน 2568</p><p> EEC เสียโอกาสพัฒนาเมือง</p><p> นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ EEC) กล่าวว่า ตามกรอบเวลาการเข้า ครม. คือช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 จากนั้นลากมาเดือนธันวาคม 2567 ที่ต้องอนุมัติร่างสัญญาฉบับใหม่ ซึ่งทั้งหมดจะต้องให้เสร็จภายในสิ้นปี 2567 แต่ในที่สุดก็ยังไม่มีการเสนอเข้า ครม. จึงขยับไทม์ไลน์ออกมา และขีดเส้นในการตัดสินใจครั้งสุดท้ายคือเดือนมกราคม 2568 จนกระทั่งล่าสุดบอร์ด EEC คาดว่าจะให้จบภายในเมษายน 2568 รวมเราต้องเสียเวลาไปอีกกว่า 3 เดือน</p><p> อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าของโครงการนับตั้งแต่การลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 กินเวลามาถึง 5 ปี เมื่อโครงการดังกล่าวยืดระยะเวลาออกไปอีก ยิ่งสูญเสียโอกาสในการที่จะพัฒนาเมือง พัฒนาแต่ละสถานี เช่น ฉะเชิงเทรา พัทยา สัตหีบ พื้นที่ตลอดแนวเส้นทางรถไฟ รวมถึงสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และยังเสียโอกาสในการดึงการลงทุนเข้ามาใน EEC เพราะบางโครงการจำเป็นที่ต้องเห็นความชัดเจนของโครงการนี้ก่อน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาเป็นซัพพลายเชนในโครงการดังกล่าว</p><p> ยันรถไฟ 3 สนามบินต้องเกิด</p><p> นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ร.ฟ.ท.ในฐานะคู่สัญญาร่วมลงทุนกับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ผู้ชนะการประมูล ยืนยันว่าโครงการนี้เป็นโครงการสำคัญและจำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ นอกจากจะเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศไปแล้ว ยังส่งผลต่อการเกิดขึ้นของหลายอุตสาหกรรมในอนาคต รวมถึงซัพพลายเชนในประเทศ</p><p> ส่วนกรณีที่โครงการไปต่อไม่ได้ ทั้งจากการไม่มีการลงนามในสัญญาแก้ไขปรับปรุง หรือมีการบอกเลิกสัญญาโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง EEC อาจเสนอให้ ร.ฟ.ท.เป็นผู้เข้ามารับผิดชอบการลงทุนในโครงการนี้แทนภาคเอกชน ซึ่งตามศักยภาพของ ร.ฟ.ท.แล้วสามารถดำเนินโครงการนี้ได้ เพราะมีศักยภาพมากพอในเรื่องของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นส่วนของระบบราง แต่ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล</p><p style="font-size:13px;">11/1/2568 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 11 มกราคม 2568 )</p>