‘ไทยเบฟ’ ทุ่มลงทุน 1.8 หมื่นล้าน ขยายโรงเหล้า-เบียร์-ฟาร์มโคนม
“ไทยเบฟ” โชว์ตัวเลขรายได้ 9 เดือน มูลค่ารวม 2.17 แสนล้านบาท เดินหน้าลงทุนตามโรดแมปสร้างการเติบโต 5 ปี วางแผนลงทุนใหม่ 1.8 หมื่นล้านบาท สร้างโรงงานสุรา-เบียร์-ฟาร์มโคนม ยึดหัวหาดตลาดอาเซียน-นิวซีแลนด์ เปิดแนวรบเต็มรูปแบบชิงดีมานด์ตลาดสุรา-เบียร์-น็อนแอลกอฮอล์ ดึงเทคโนโลยีดิจิทัลอัพเกรดระบบซัพพลายเชน เสริมแกร่งความสามารถแข่งขันแบรนด์ไทยสู่โลก โฟกัสโมเดลธุรกิจเติบโตยั่งยืนเคียงคู่สิ่งแวดล้อมและสังคม
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า ผลดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน 2567) กลุ่มไทยเบฟมีรายได้จากการขายรวม 217,055 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันของปี 2566 มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) 38,595 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 โดยได้แรงหนุนจากธุรกิจเบียร์และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นผลจากการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ
“สถานการณ์ 9 เดือนแรกมีความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาคและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ แต่เราสามารถก้าวข้ามอุปสรรคมาได้ด้วยรากฐานที่แข็งแกร่ง และการบริหารอัตรากำไรและความเสี่ยงอย่างมีวินัย ทำให้เรามีผลการดำเนินงานดีในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 เช่นเดียวกับในช่วง 5 ปี (2562-2566) ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันเรากำลังมองไปข้างหน้า โดยนำจุดแข็งทางการแข่งขันและขีดความสามารถหลักของเรามาเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโต และสร้างมูลค่าให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม”
ทั้งนี้ ไทยเบฟฯต่อยอดความสำเร็จจากแผน Passion 2025 ด้วยการเดินหน้าขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนสู่ Passion 2030 ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานของกลุ่มเพื่อมุ่งสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีหน้า
รุกลงทุนต่อเนื่อง 1.8 หมื่นล้าน
สำหรับการลงทุนใหม่ บริษัทมีแผนเดินหน้าลงทุนด้านต่าง ๆ มูลค่าลงทุนรวม 18,000 พันล้านบาท อาทิ ฟาร์มโคนมในมาเลเซีย 8,000 ล้านบาท, โรงงานเบียร์และธุรกิจอื่น ๆ ในกัมพูชา 1,500 ล้านบาท เป็นต้น เพื่อเสริมศักยภาพการทำธุรกิจและชิงความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และน็อนแอลกอฮอล์ระดับอาเซียน และระดับโลก ประกอบด้วย
1.การลงทุนในธุรกิจเบียร์ บริษัทเริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตเบียร์ในประเทศกัมพูชา คาดว่าจะแล้วเสร็จต้นปี 2569 มีกำลังผลิตเริ่มต้น 50 ล้านลิตร เพื่อรองรับดีมานด์ในตลาดเบียร์กัมพูชาที่เติบโตเร็วที่สุด และมีขนาดตลาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของอาเซียนในด้านปริมาณการขาย รวมถึงมีปริมาณการบริโภคสูงถึง 10 ล้านเฮกโตลิตร/ปี สะท้อนถึงศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ตลาดเบียร์ในกัมพูชามีความน่าสนใจ เมื่อเทียบกับตลาดประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ เช่น เวียดนามที่กำลังเผชิญความท้าทายจากการบังคับใช้กฎหมายเมาแล้วขับฉบับใหม่ ซึ่งมีบทลงโทษรุนแรงทำให้การบริโภคเบียร์ในเวียดนามลดลง
2.ธุรกิจสุรา บริษัทมีแผนลงทุนขยายกำลังผลิตวิสกี้ในประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขันในตลาดสุราพรีเมี่ยม
3.ธุรกิจเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ บริษัทเดินหน้าลงทุนโครงการฟาร์มโคนม ที่ริเริ่มโดย F&N ซึ่งจะสร้างความได้เปรียบในธุรกิจเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ระดับอาเซียน ทั้งจากการรองรับดีมานด์นมในมาเลเซียที่กำลังเกิดปัญหาขาดแคลนนม และโอกาสต่อยอดให้หน่วยธุรกิจในมาเลเซียเป็นฮับด้านอาหาร-เครื่องดื่มฮาลาล เจาะตลาดประเทศมุสลิมอื่น ๆ เช่น อินโดนีเซีย ในอนาคตอีกด้วย
4.นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเสริมแกร่งให้กับการดำเนินธุรกิจด้านต่าง ๆ อาทิ ประยุกต์ใช้ระบบขายอัตโนมัติ (Sales Automation) เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มความรวดเร็วและประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต การดำเนินงาน รวมถึงการกระจายสินค้า โดยวางแผนพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า และเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับแผนสร้างการเติบโตในอนาคต
ส่งสุราพรีเมี่ยมไทยบุกตลาดโลก
นายฐาปนกล่าวถึงรายละเอียดผลดำเนินการ 9 เดือนแยกรายกลุ่มธุรกิจ ดังนี้ กลุ่มธุรกิจสุรา มีรายได้จากการขาย 92,788 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.9 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 มีกำไรก่อนดอกเบี้ย (EBITDA) ลดลงร้อยละ 1.3 สาเหตุหลักมาจากปริมาณขายรวมที่ลดลงร้อยละ 2.7 เนื่องจากการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไทย แต่ชดเชยด้วยรายได้ธุรกิจในประเทศเมียนมาที่ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากปีก่อน
หลังจากนี้ นอกจากการเพิ่มกำลังผลิตสุราพรีเมี่ยมในต่างประเทศแล้ว จะมุ่งทำตลาดสุราพรีเมี่ยมสัญชาติไทยในตลาดโลก โดยมียี่ห้อใหม่ “ปราการ-Prakaan” ซิงเกิลมอลต์วิสกี้ระดับพรีเมี่ยม เป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อน เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคในตลาดหลักอย่างไทย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และญี่ปุ่น
ธุรกิจเบียร์-อาหารเติบโตเด่น
กลุ่มธุรกิจเบียร์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มี EBITDA ของการเติบโตร้อยละ 10.2 ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 เป็น 93,793 ล้านบาท จากการลงทุนในตราสินค้าและกิจกรรมทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ลดลง แม้ปริมาณขายรวมจะลดลงร้อยละ 2.9
ทั้งนี้นอกจากการลงทุนในกัมพูชาแล้ว ในไทยจะดำเนินกลยุทธ์อื่น ๆ เพื่อชิงความได้เปรียบ อาทิ เพิ่มสัดส่วนพื้นที่บนชั้นวางสินค้าในร้านค้า และพัฒนาตราสินค้าแมสพรีเมี่ยมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของกลุ่มธุรกิจอาหาร มีรายได้จากการขาย 15,022 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 เป็นผลจากการขยายธุรกิจต่อเนื่อง ในขณะที่ EBITDA ลดลงร้อยละ 0.6 เป็น 1,438 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น
โดยกลุ่มไทยเบฟฯใช้กลยุทธ์ปรับรูปแบบร้านตามทำเลยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีในช่วงที่ผ่านมา พร้อมนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ และผนึกกำลังร่วมกับกลุ่มไทยเบฟฯพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน บริหารจัดการระบบซัพพลายเชนหรือห่วงโซ่อุปทาน เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงขึ้น
รุกเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์
กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ มีรายได้จากการขาย 15,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ตามปริมาณขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 ปัจจัยหลักมาจากกิจกรรมส่งเสริมตราสินค้าที่ประสบความสำเร็จ ประกอบกับการขยายการกระจายสินค้า โดยมี EBITDA 1,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้นและต้นทุนบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง
โดยหลังจากนี้ยังคงมุ่งเน้นกลยุทธ์หลักที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอตราสินค้าเครื่องดื่มที่หลากหลาย เพื่อรองรับความต้องการและความชื่นชอบของผู้บริโภคกลุ่มต่าง ๆ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป กลยุทธ์สร้างความเป็นเลิศด้านการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน และความยั่งยืน พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ เช่น ก่อนหน้านี้ติดตั้งเครื่องเป่าขวดขึ้นรูป เพื่อรองรับกระบวนการผลิตขวดภายในกลุ่มทั้งหมด เป็นต้น
แบ่งปันคุณค่า-เติบโตยั่งยืน
สำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย “สรรค์สร้างการเติบโตที่ยั่งยืน” ซึ่งรวมถึงเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ทั้งทางตรง (Scope 1) และทางอ้อม (Scope 2) ภายในปี 2583 โดยไทยเบฟฯได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2566 ไทยเบฟฯสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนแล้ว อาทิ บรรลุระยะที่ 1-3 โครงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในโรงงาน 40 แห่ง ครอบคลุมในไทย เมียนมา เวียดนาม รวมกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 42.48 เมกะวัตต์
สร้างโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพที่โรงงานสุราในจังหวัดราชบุรี เพิ่มจากเดิมที่มีอยู่ 7 แห่ง ช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำปีละ 1.5 ล้านลิตรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 20,205 เมตริกตันคาร์บอน, นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ร้อยละ 37 (ไม่รวมเวียดนาม), ลดการดึงน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติได้ร้อยละ 13.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วในพื้นที่ที่มีการใช้น้ำมาก
ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope 1 และ Scope 2 ลงร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2562, นำขยะอาหารและของเสียอื่น ๆ จำนวนร้อยละ 61.6 กลับมาใช้ใหม่, เก็บกลับบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วได้ร้อยละ 97 ในไทย เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิล, มีสัดส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในไทยได้รับเครื่องหมาย “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 73
โดยปี 2566 ไทยเบฟได้รับการจัดอันดับอยู่ในกลุ่มบริษัทที่มีคะแนนสูงสุด “Top 1% S&P Global Corporate Sustainability Assessment (CSA) Score” ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน โดยได้คะแนนสูงสุดในหมวดธรรมาภิบาล เศรษฐกิจ และสังคม และได้คะแนนเป็นอันดับสองในหมวดสิ่งแวดล้อมเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน
นอกจากนี้ยังได้รับคัดเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดัชนีระดับโลกอย่างกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) โดยเป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนีโลก (DJSI World Index) เป็นปีที่ 7 และกลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ (DJSI Emerging Markets Index) เป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน
นอกจากนี้ ไทยเบฟยังได้เข้าร่วมโครงการเปิดเผยข้อมูลตามกรอบการประเมินของ Carbon Disclosure Project (CDP) ซึ่งเป็นสถาบันประเมินความยั่งยืนที่น่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับมากที่สุดทั่วโลก ซึ่งไทยเบฟฯได้รับคะแนนระดับ A- ในด้านการบริหารจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการบริหารจัดการน้ำ (Water Security) จากการประเมินในปี 2566
กลุ่มมุ่งมั่นพัฒนาการดำเนินงานให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว สอดคล้องกับพันธกิจของไทยเบฟที่จะ “สร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต” ซึ่งเป็นสิ่งที่ผลักดันให้ไทยเบฟประสบความสำเร็จและได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมายตลอดหลายปีที่ผ่านมา
2/10/2567 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 2 กันยายน 2567 )