WHA คว้าดีลกูเกิลลงชลบุรี ผุด “ดาต้าเซ็นเตอร์” แห่งแรก

อุตสาหกรรม Data Center ในไทยเนื้อหอม บิ๊กเทคข้ามชาติ ขอรับการส่งเสริมการลงทุน BOI เกือบ 40 ราย รวมมูลค่าลงทุนทะลุ 1 แสนล้านบาท ล่าสุด Google ประกาศทุ่ม 3.6 หมื่นล้านบาท ผุด Data Center แห่งแรก ส้มหล่น “นิคมฯ WHA จ.ชลบุรี” คว้าดีลยักษ์ ‘จรีพร’ ปลื้มกวาดรายได้ปี’ 67 ทุบสถิติใหม่อีกครั้ง

กูเกิลลงทุน 3.6 หมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 นางรูท โพรัต (Ruth Porat) ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการลงทุนของ Alphabet และ Google ได้เข้าเยี่ยมคารวะ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือความคืบหน้าของโครงการการลงทุนของบริษัทในไทย และความร่วมมือเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ภายใต้แนวคิด Leave No Thai Behind

นาง Ruth Porat ได้ประกาศการลงทุนจำนวน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 36,000 ล้านบาท ในไทย เพื่อสร้าง Data Center และ Cloud Region ในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างงานกว่า 14,000 ตำแหน่ง ในช่วงปี 2568-2572 และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 140,000 ล้านบาท ภายในปี 2572

โดยการลงทุนนี้จะช่วยส่งเสริมธุรกิจไทย นวัตกร และชุมชนต่าง ๆ ในการใช้ประโยชน์จากความสามารถของเทคโนโลยีคลาวด์และ AI “Google มุ่งมั่นในการทำให้ทักษะด้านดิจิทัลเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ จะช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และปูทางไปสู่อนาคตที่สดใสของยุคดิจิทัล ที่ผู้คนและองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า Google ได้ประกาศแผนการลงทุนมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ (3.6 หมื่นล้านบาท) เพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในประเทศ โดยการลงทุนของ Google ในโครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิคระดับเวิลด์คลาส คาดว่าจะมีส่วนช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 1.4 แสนล้านบาท แก่ GDP ของประเทศไทย ภายในปี 2572 และสร้างงานโดยเฉลี่ย 14,000 ตำแหน่งต่อปี ตั้งแต่ปี 2568-2572 (อ้างอิงข้อมูลจากการศึกษาของดีลอยท์ Deloitte)

ทั้งนี้ โครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์และศูนย์ข้อมูลของ Google ในกรุงเทพฯ และชลบุรี จะช่วยรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการใช้งาน Google Cloud และนวัตกรรม AI อีกทั้งบริการต่าง ๆ ของ Google ซึ่งเป็นที่นิยม เช่น Google Search, Google Maps และ Google Workspace ที่องค์กรต่าง ๆ ประชาชนคนไทย ตลอดจนผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลกใช้ในชีวิตประจำวัน

ตั้งศูนย์ข้อมูลใน EEC

อย่างไรก็ตาม Cloud Region และศูนย์ข้อมูลของ Google เป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลคนละประเภทกัน โดยศูนย์ข้อมูลมีไว้สำหรับจัดเก็บข้อมูลและประมวลผลคำขอสำหรับบริการดิจิทัลของ Google เช่น YouTube, Google Search, Google Maps และ Google Workspace ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลแห่งแรกของ Google ในประเทศไทย จะตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ (WHA) ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor-EEC) จังหวัดชลบุรี

ส่วน Cloud Region คือการรวบรวมทรัพยากรการประมวลผลและการจัดเก็บข้อมูลโดยมีการเชื่อมต่อเครือข่ายประสิทธิภาพสูงระหว่างกัน แม้ว่าฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และการดำเนินการจะคล้ายคลึงกับศูนย์ข้อมูล แต่ Cloud Region จะให้บริการ Google Cloud เฉพาะสำหรับองค์กรขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรอื่น ๆ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปสู่ระบบดิจิทัล มีที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ

การประกาศแผนการลงทุนครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากประกาศของ Google Cloud เมื่อปี 2565 ที่วางแผนจะเปิดตัว Cloud Region ในประเทศไทย เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจขนาดเล็ก สตาร์ตอัพ ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ ใช้ประโยชน์จากทรัพยากร Al/ML (Machine Learning) และการประมวลผลแบบออนดีมานด์ได้ง่ายและเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้บริการมีประสิทธิภาพสูงและมีความหน่วงต่ำ รวมถึงมอบเครื่องมือในการควบคุมหลัก ๆ แก่ลูกค้า เพื่อดูแลเรื่องความปลอดภัยสูงสุด

ไทยเป็นกลางทางเทคโนโลยี

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจดิจิทัลถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของไทย โดยรัฐบาลมุ่งเสริมศักยภาพด้านดิจิทัลที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาตนเอง ประสิทธิภาพการทำงาน และนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยลดความไม่เท่าเทียมและสร้างโอกาสที่มากขึ้นสำหรับทุกคน

นอกจากนี้ ศักยภาพของไทย ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ยืดหยุ่น และระบบสาธารณูปโภคที่มีเสถียรภาพ ควบคู่กับมีการรักษาความเป็นกลางทางเทคโนโลยี (Technological Neutrality) รวมถึงความต้องการด้านดิจิทัลของไทยยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการมีเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุม และมีประชากรที่ใช้งานดิจิทัลจำนวนมาก

รัฐบาลจะเดินหน้าขยายโครงการริเริ่มด้านพลังงานสะอาด และปรับปรุงภูมิทัศน์ด้านกฎระเบียบ เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศทางดิจิทัลที่เจริญรุ่งเรือง โดยรัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อสร้างกลไกด้านพลังงานสะอาด อาทิ การทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct PPA) และการเพิ่มทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงพลังงานสะอาดได้มากขึ้น

ชู ศูนย์กลางที่รุ่งเรือง

นอกจากนี้ รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบดิจิทัลที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยอีกหนึ่งโครงการริเริ่มที่สำคัญของรัฐบาล คือ นโยบายการใช้ระบบคลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) เพื่อยกระดับการบริการดิจิทัลของรัฐบาล การกำกับดูแลข้อมูล และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล สร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจ พร้อมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมดิจิทัล

“รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางที่รุ่งเรืองของ Google เพื่อส่งเสริมการเติบโตของคนไทยและธุรกิจทั้งในประเทศและภายในภูมิภาคอาเซียน” น.ส.แพทองธารกล่าว

Data Center ในไทยทะลุแสนล้าน

ปัจจุบันมีอุตสาหกรรม Data Center และ Cloud Service ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งเป็นตัวเลขในเดือนกรกฎาคม รวม 37 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 98,539 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง โดยมีบริษัทชั้นนำระดับโลกได้เข้ามาลงทุนจัดตั้ง Data Center ในประเทศไทยแล้วหลายราย

อาทิ Amazon Web Service (AWS) ที่ประกาศลงทุน Data Center ในไทยกว่า 2 แสนล้านบาท ภายในปี 2580 โดยในเฟสแรกได้ลงทุนสร้าง Data Center แล้ว 3 แห่ง เงินลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการ Next DC จากออสเตรเลีย ลงทุน 13,700 ล้านบาท STT GDC จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,500 ล้านบาท Evolution Data Center จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,000 ล้านบาท Supernap (Switch) จากสหรัฐอเมริกา ลงทุน 3,000 ล้านบาท Telehouse จากญี่ปุ่น ลงทุน 2,700 ล้านบาท One Asia จากฮ่องกง ลงทุน 2,000 ล้านบาท

ขณะที่ธุรกิจการให้บริการคลาวด์ (Cloud Service) มีบริษัทชั้นนำที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ เช่น Alibaba Cloud ลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท และ Huawei Technologies ลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท นอกจากบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศแล้ว ยังมีผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสูงอีกหลายรายที่ลงทุนในธุรกิจ Data Center และ Cloud Service ด้วย เช่น บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย และบริษัท GSA ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Gulf, Singtel และ AIS

WHA คว้าดีล Google

น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ได้เซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินกับทาง Google ไปเรียบร้อยแล้ว ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของ WHA ที่ จ.ชลบุรี เพื่อสร้าง Data Center แห่งแรก

การเซ็นสัญญาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เราได้ไปเจรจาโรดโชว์ตั้งแต่สมัยนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากนั้นก็ส่งต่อมาที่นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน และมาถึงนายกฯ แพทองธาร เป็นเรื่องดีที่ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนก็เห็นความสำคัญของนักลงทุนต่างชาติที่จะดึงเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งเทคโนโลยี S-Curve ไปทางเดียวกัน และคนที่ทำงานหนักมาก คือ BOI กระทรวงดิจิทัลฯ ทำให้ประเทศไทยได้เทคโนโลยีขั้นสูง AI เข้ามา อย่างที่เราเคยพูด หัวเราะทีหลังดังกว่า เราทำงานหนักเพราะต้องการดึงกลุ่มนี้มา

“ในเรื่องของการแข่งขันเพื่อบิดกับรายอื่นนั้น เราไม่สามารถบอกได้ ทางกูเกิลน่าจะมีคุยกับหลายราย”

กางเงื่อนไข Google

สำหรับเงื่อนไขเรื่องการจัดหาพลังงานสะอาดเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการที่ทางบริษทต้องจัดหาให้ เช่น น้ำ รวมถึงพลังงานสะอาดที่ทางกูเกิลเรียกร้องไว้ตั้งแต่ต้น โดยบริษัทมีตัวเลือกให้

ส่วนสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ต่าง ๆ นั้น ทางกูเกิลระบุว่า เนื่องด้วยเป็น Data Center พื้นที่ลงทุนจะต้องน้ำไม่ท่วม มีพลังงานสะอาดที่เพียงพอมั่นคง มีสายส่ง รวมถึงการคมนาคมสะดวก ซึ่งนิคมของ WHA ตั้งอยู่ติดถนนสายหลัก จึงเป็นโลเกชั่นที่ดีที่ทาง Google เลือก

ลุยก่อสร้างเร็วที่สุด

นางสาวจรีพรกล่าวว่า แผนจะเริ่มปักหมุดก่อสร้างนั้น ทางกูเกิลแจ้งว่าเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะทางเขาก็เร่งโครงการนี้เช่นกัน

ส่วนการจะดึงรายอื่น ๆ มาลงทุนด้วยหรือไม่นั้น เราไม่ทราบ แต่การที่กูเกิลบอกว่าเป็นดาต้าเซ็นเตอร์แห่งแรก นั่นหมายความว่ามันจะต้องมีแห่งถัด ๆ ไป

4 รายปักหมุดใน WHA

ก่อนหน้านี้ก็มีนักลงทุนบิ๊กเนมเมื่อ 2 ปีก่อนมาซื้อที่ดินเพื่อทำ Data Center ที่นิคม WHA ถึง 2 แห่ง ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน ทำให้ภาพรวมการลงทุน Data Center ในนิคม WHA ตอนนี้มีทั้งหมด 4 แห่ง และจะมีมาอีกคือ Google และจะมีมาเพิ่มอีกที่กำลังคุยอยู่อีก 5-6 แห่ง

ดันยอดรายได้ WHA ทุบสถิติ

การเซ็นสัญญาครั้งนี้มันรวมจากเป้าใหม่ที่เราได้เพิ่มเป้าหมายในปี 2567 นี้ไปแล้ว สำหรับเป้ายอดขายที่ดินปี 2567 อยู่ที่ 2,500 ไร่

ส่วนการโรดโชว์ในไตรมาสสุดท้ายของเราเอง เราไปกับ กนอ. ที่จีนเมื่อสัปดาห์ก่อน ไปกับบีโอไอที่ไต้หวัน ญี่ปุ่น เราทำงานหนักเพื่อดึงการลงทุน เรามีดีลใหญ่อีกหลายดีล ที่ดิน 200-300 แปลง ยอดขายที่ดินปี 2567 นี้ที่ไทยน่าจะทะลุ ส่วนที่เวียดนามต้องขอดูตัวเลขอีกครั้งก่อน

2/10/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 2 ตุลาคม 2567 )