พลัสฯ เทียบฟอร์มท็อป 10 อสังหาฯ ปี’67 “แสนสิริ เอพี ศุภาลัย” กอดคอทำรายได้สูงสุด

พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ผู้นำการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เผยผลวิจัยผลประกอบการ 10 อันดับผู้ประกอบการอสังหาฯ รายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประจำปี 2567 พบสามอันดับแรก “แสนสิริ เอพี ศุภาลัย” ทำรายได้สูงสุด

นางสุวรรณี มหณรงค์ชัย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมปี 2567 แม้ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะเผชิญกับความท้าทาย แต่ยังคงมีโอกาสและแนวโน้มที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการปรับตัวของผู้ประกอบการ การมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าเฉพาะ และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการ ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ เรามั่นใจว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยยังมีความหวังและโอกาสในการเติบโต

และด้วยกลยุทธ์ที่สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะการขยายโครงการระดับลักเซอรี่ ซึ่งเป็นแนวทางหลักตั้งแต่ปี 2567 และต่อเนื่องถึงปี 2568 นี้ ขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้นยังเป็นอีกแรงส่งเสริมให้ตลาดอสังหาฯ ขยายตัว โดยเฉพาะทำเลท่องเที่ยวอย่าง ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ ขอนแก่น ยังคงคึกคักต่อเนื่อง

สำหรับผลประกอบการปี 2567 ในกลุ่ม 10 อันดับแรกของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ข้อมูลที่พลัสฯ รวบรวมนำเสนอจาก www.set.or.th ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 มีรายละเอียดดังนี้

อันดับ 1 บมจ.แสนสิริ รายได้รวม 39,205 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 5,253 ล้านบาท

โดยแสนสิริมีรายได้รวม อยู่ที่ 39,205 ล้านบาท เติบโต 2% จากปีก่อนหน้า มีกำไรสุทธิ 5,253 ล้านบาท ลดลง 13.3% จาก 6,060 ล้านบาทในปี 2566 ทั้งนี้ แสนสิริยังคงรักษารายได้เติบโตต่อเนื่อง เติบโตขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า ท่ามกลางภาวะแข่งขันสูง

โดยเติบโตจากกลยุทธ์การปรับพอร์ตโฟลิโอเพื่อเจาะกลุ่มความต้องการที่อยู่อาศัยระดับพรีเมี่ยม-ลักเซอรี่ รวมถึงการรุก Strategic Locations เมืองท่องเที่ยวใหญ่ที่มีศักยภาพ โดยสัดส่วนยอดขายและยอดโอนของบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมเติบโตในทิศทางเดียวกัน ขณะที่ยอดขายคอนโดมิเนียมปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

อันดับ 2 เอพี ไทยแลนด์ รายได้รวม 37,460 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5,020 ล้านบาท

โดยเอพี ไทยแลนด์ มีรายรวม 37,460 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5,020 ล้านบาท โดยรายได้ลดลง 2.4% จาก 38,399 ล้านบาท และกำไรสุทธิลดลง 17.1% จาก 6,054 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยกลุ่มสินค้าแนวราบยังคงเป็นโปรดักต์ไฮไลต์ของเอพี ไทยแลนด์ โดยเฉพาะกลุ่มบ้านแฝด ทาวน์โฮม และบ้านเดี่ยวเครือเอพี ที่ได้รับการตอบรับจากลูกค้า

อันดับ 3 ศุภาลัย รายได้รวม 31,985 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,190 ล้านบาท

โดยศุภาลัย สร้างรายได้รวมที่ 31,985 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.4% จาก 31,858 ล้านบาท และได้กำไรสุทธิ 6,190 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% จาก 5,989 ล้านบาทในปีก่อนหน้า ซึ่งรายได้หลักมาจากการเปิดตัวโครงการแนวราบและคอนโดมิเนียมที่เจาะกลุ่มลูกค้าทุกเซ็กเมนต์ ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยทำเลยอดนิยมที่สร้างยอดขายได้ทะยานสูงเป็นลำดับต้น ๆ คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภูเก็ต ชลบุรี และเชียงใหม่

อันดับ 4 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ รายได้รวม 28,151 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5,491 ล้านบาท

สำหรับแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีรายได้รวม 28,151 ล้านบาท ผลงานกำไรสุทธิ 5,491 ล้านบาท โดยรายได้ลดลง 6.7% จาก 30,170 ล้านบาท และกำไรสุทธิลดลง 26.6% จาก 7,482 ล้านบาท

อันดับ 5 พฤกษา รายได้รวม 20,996 ล้านบาท กำไรสุทธิ 456 ล้านบาท

โดยพฤกษา มีรายได้รวม 20,996 ล้านบาท ลดลง 19.7% ผลงานกำไรสุทธิลดลงถึง 79.3% เหลือ 456 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 2,205 ล้านบาท เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจและการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่มีความเปราะบาง และบริษัทจำเป็นต้องทำโปรโมชั่นด้านราคาในช่วงปลายปีเพื่อกระตุ้นยอดขายในภาวะตลาดที่ยังไม่ฟื้นตัว

อันดับ 6 เอสซี แอสเสท รายได้รวม 20,823 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,706 ล้านบาท

โดยเอสซี แอสเสท ทำรายได้รวม 20,823 ล้านบาท ลดลง 15.2% จาก 15,821 ล้านบาท ทำกำไรสุทธิ 1,706 ล้านบาท ลดลง 31.3% จาก 2,482 ล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้มาจากการขายโครงการแนวราบและแนวสูง ในขณะที่รายได้ค่าเช่าและบริการเติบโตต่อเนื่องตามทิศทางของบริษัทในการขยายไปสู่ธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ และรายได้ค่าที่ปรึกษาและการจัดการที่เพิ่มขึ้นจากรายได้ค่าบริหารในกิจการร่วมค้า

อันดับ 7 ออริจิ้น รายได้รวม 11,985 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,052 ล้านบาท

โดยออริจิ้น มีรายได้ 11,985 ล้านบาท ลดลง 20.9% จาก 15,157 ล้านบาท กำไรสุทธิลดลง 61.3% เหลือ 1,052 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 2,718 ล้านบาท

อันดับ 8 แอสเซทไวส์ รายได้รวม 9,941 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,457 ล้านบาท

สำหรับแอสเซทไวส์ ทำรายได้รวม 9,941 ล้านบาท รายได้เพิ่มขึ้น 39.1% จาก 7,147 ล้านบาท ทำกำไรสุทธิ 1,457 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 33.4% จาก 1,092 ล้านบาท

อันดับ 9 ควอลิตี้เฮ้าส์ รายได้รวม 8,695 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,150 ล้านบาท

โดยควอลิตี้เฮ้าส์ ทำรายได้รวม 8,695 ล้านบาท รายได้ลดลง 5.9% จาก 9,237 ล้านบาท ทำกำไรสุทธิ 2,150 ล้านบาท ลดลง 14% จาก 2,503 ล้านบาท

อันดับ 10 แอล.พี.เอ็น. รายได้รวม 8,011 ล้านบาท กำไรสุทธิ 111 ล้านบาท

สำหรับ แอล.พี.เอ็น. ทำรายได้รวม 8,011 ล้านบาท รายได้เพิ่มขึ้น 7.6% จาก 7,444 ล้านบาท ทำกำไรสุทธิ 111 ล้านบาท ลดลง 69% จาก 353 ล้านบาท

นางสุวรรณีกล่าวถึงมุมมองทางด้านโอกาสและความหวังของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยว่า พลัสฯ ได้รวบรวม และสรุปเป็นปัจจัยหลัก ๆ 3 ข้อ ดังนี้

1. การเติบโตของตลาดลักเซอรี่ (Luxury Segment) พลัสฯ พบว่าตลาดระดับบนยังคงมีความต้องการสูงอย่างต่อเนื่อง และดีเวลอปเปอร์สามารถปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงนี้ได้ รวมถึงการพัฒนาโครงการในพื้นที่ ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสอดคล้องตามการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ที่จะสนับสนุนตลาดอสังหาริมทรัพย์

2. การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติสร้างโอกาสในการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทำเลท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ และขอนแก่น ยังคงมีความน่าสนใจ

3. กลยุทธ์การปรับตัวของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การออกแบบโครงการที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาโครงการ อาทิ เทรนด์ Pet Friendly ทั้งแนวราบและแนวสูง โอกาสของคอนโดฯ ในเมือง และเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต พัทยา รวมถึงงานบริการที่จะส่งเสริมให้อสังหาฯ เรามีมูลค่าเหนือกาลเวลา

นอกจากนี้ มองว่าในภาคอสังหาฯ เรายังได้รับแรงหนุนจากมาตรการภาครัฐ โดยล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.25% เหลือ 2% ต่อปี คาดว่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของผู้บริโภค

ขณะเดียวกัน ตลาดยังจับตาความเป็นไปได้ที่ ธปท. อาจผ่อนคลายมาตรการ LTV (อัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน) โดยเฉพาะเงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้ซื้อบ้านราคาสูงกว่า 10 ล้านบาท ต้องวางเงินดาวน์ขั้นต่ำ 30% หากมีการปรับลด LTV ในทุกระดับราคา คาดว่าจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในตลาดได้อย่างมีนัยสำคัญในปีนี้

อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจช่วยขับเคลื่อนตลาดคือ “งานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 47” ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มที่ได้รับความนิยมคือ บ้านเดี่ยวระดับกลาง อาคารชุด และทาวน์โฮม ขณะที่โครงการมิกซ์ยูสเริ่มกลับมาเป็นที่สนใจ สะท้อนพฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนไปตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งดีเวลอปเปอร์ทั้งรายเล็ก-ใหญ่ก็ยังต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับกำลังซื้อในกลุ่มเซ็กเมนต์ที่ยังมีศักยภาพ

7/3/2568  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 7 มีนาคม 2568 )