ดีลร่วมทุน FPL-โสภณพนิช-โรจนะ ปั้นอารยะ เกตเวย์ เมืองอุตฯ+นวัตกรรมแห่งแรกในไทย

เปิดศักราชต้นปี 2568 ข่าวใหญ่ของไตรมาส 1/68 น่าจะเป็นการเปิดตัวนิคมอุตสาหกรรมน้องใหม่ แต่ผู้ถือหุ้นมาจาก 3 ยักษ์ธุรกิจ แบรนด์ “อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์” บนที่ดินรวม 4,631 ไร่
โครงการนี้มีสัดส่วนถือหุ้นจาก FPL ในนาม FPT-บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย 50%, กลุ่มนิคมอุตฯโรจนะ 25% และ กลุ่มเอเชีย อินดัสเตรียล เอสเตท ของ “ชาลี โสภณพนิช” สัดส่วน 25%
นับเป็นดีลร่วมทุน หรือ JV-Joint Venture ที่ไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ แต่ทุกอณูของแผนธุรกิจ การศึกษาความเป็นไปได้สุกงอมตั้งแต่ปี 2560 จากนั้นในปี 2561 ผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มเจ้าสัวเจริญได้เข้าประมูลที่ดิน NPA จากกรมบังคับคดี และเป็นผู้ชนะประมูลด้วยราคา 8,914 ล้านบาท
น่าสังเกตว่าแลนด์แบงก์ผืนใหญ่ในอดีตเป็นของบริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ AQ ซึ่งรีแบรนด์มาจากเจ้าของเดิมคือกลุ่มกฤษดามหานคร ณ ตอนนั้น กรมบังคับคดีระบุตัวเลขกลม ๆ มีจำนวน 4,300 ไร่ ดังนั้น การเปิดตัวล่าสุดเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ระบุมีที่ดินรวมทั้งสิ้น 4,631 ไร่ จึงน่าจะเป็นการซื้อสะสมเพิ่มเติม
ต้องบอกว่าถือเป็นข่าวดี เพราะจังหวะเปิดตัว “อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์” เกิดขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของโลกทั้งใบ อันมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ในอนาคตไม่มีข้อสงสัยเลยว่านิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้จะมีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตมูลค่าหลายแสนล้านบาท
โดย “นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI เปิดประเด็นเรียกน้ำย่อยว่า สถิติปี 2567 BOI แจกบัตรส่งเสริมลงทุนให้กับนักลงทุนจากสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ฯลฯ มูลค่า 1.1 ล้านล้าน สูงสุดในรอบ 10 ปี มีจำนวน 3,000 โครงการ สูงที่สุดนับแต่ก่อตั้ง BOI เมื่อปี 2509 หรือสูงสุดในรอบ 58 ปี
“ประเทศไทยมีความพร้อมทุกด้าน นอกจากเรื่องคน อีกปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนคือเรื่องที่ดิน นักลงทุนมองหาที่ดินที่มีความพร้อมในด้านทำเลที่ตั้ง อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ เชื่อมโยงสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ และโซน EEC มีสาธารณูปโภคในโครงการ และบริการที่ดีจากดีเวลอปเปอร์ รวมทั้งต้องการอีโค่ซิสเต็มที่ดึงดูดทาเลนต์เข้ามาทำงานได้ โครงการอารยะฯ สามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี เพราะไม่ใช่แค่นิคมอุตสาหกรรม แต่เป็นพื้นที่นวัตกรรม และอุตสาหกรรมสมัยใหม่แบบครบวงจร”
และผู้บริหารคนสำคัญ “ปณต สิริวัฒนภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด หรือ FPL กล่าวว่า เรา (3 หุ้นส่วนหลัก) ปลุกปั้นมาด้วยกัน มีประวัติศาสตร์มาไม่น้อย เพื่อต้องการใช้พื้นที่นี้เป็นกลยุทธ์สร้างโอกาสของประเทศ
“นิคมอุตฯ เอเชียกับโรจนะ เข้ามาร่วมปลุกปั้นแลนด์แบงก์ผืนนี้ตั้งแต่ปี 2560 รวมเวลา 7 ปี มีการรวมผัง รวมการพัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมระบบนิเวศครบวงจรแห่งแรกในไทย ทางกลุ่มเฟรเซอร์สฯ ภาคภูมิใจที่ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรที่มีประสบการณ์กว่า 40 ปี และเฟรเซอร์สฯ นำประสบการณ์พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรใน 22 ประเทศ มาพัฒนาต่อยอดในอนาคตร่วมกัน
มีตัวอย่างโครงการ วัน แบงค็อก ที่เราใช้เวลาพัฒนา 14 ปีเต็ม มุ่งเน้นให้เห็นการพัฒนาเมือง ควบคู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต จากวันนี้ไป อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์ เปิดตัวอย่างเป็นทางการ เรายินดีต้อนรับความร่วมมือและความสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อต่อยอดเศรษฐกิจไทยเป็นผู้นำระดับภูมิภาคอาเซียน”
ทำเลเชื่อมไร้รอยต่อกรุงเทพฯ-EEC
ด้าน “นางสาวกมลกาญจน์ คงคาทอง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อารยะ แลนด์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด ให้ข้อมูลลงรายละเอียดว่า อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์-ARAYA The Eastern Gateway พัฒนาในแนวคิดระบบนิเวศเมืองอุตสาหกรรมและนวัตกรรมครบวงจรรูปแบบใหม่ บนพื้นที่ 4,631 ไร่ มีวัตถุประสงค์เพื่อบุกเบิกระบบนิเวศแห่งนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยีขั้นสูง และโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในไทย
รายละเอียดโครงการตั้งอยู่บนประตูสู่ภาคตะวันออก ถนนบางนา-ตราด ก.ม.32 ทำเลทองของอุตสาหกรรมไทย ใกล้กรุงเทพฯ เชื่อมต่อจากถนนบางนา-ตราด ผ่านมอเตอร์เวย์สาย 7 กรุงเทพฯ-ชลบุรี เชื่อมต่อกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และท่าเรือแหลมฉบังในเวลาเพียง 60 นาที เหมาะกับการเป็นศูนย์กลางธุรกิจโลจิสติกส์ อุตสาหกรรม และการค้าระหว่างประเทศ
กมลกาญจน์ คงคาทอง
ทั้งนี้ อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์ ออกแบบระบบนิเวศภายในโครงการ 6 องค์ประกอบหลัก ดังนี้
1.Industrial Tech Campus-แคมปัสด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงศูนย์ข้อมูล-Data Center มีสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานทันสมัย เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
2.Logistics Park พื้นที่สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ คลังสินค้า และศูนย์กระจายสินค้า
ผนึกการนิคมฯ มอบสิทธิประโยชน์
3.ARAYA Industrial Estate-นิคมอุตสาหกรรมอารยะ แผนแม่บทเตรียมพื้นที่ 2 เฟส โดยเฟสแรกมีพื้นที่รวม 2,000 ไร่ และเฟสสองอีก 1,000 ไร่บวกลบ รองรับการเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ 100-300 ไร่ และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีความต้องการใช้ 15-20 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ผังเมืองสีม่วงสำหรับรองรับการลงทุนโรงงานอุตสาหกรรม และร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IEAT) ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการลงทุนต่าง ๆ ตามนโยบายของภาครัฐ
4.Lifestyle & Amenities พื้นที่รีเทล ไลฟ์สไตล์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของโครงการที่มุ่งเน้นการส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทุกคน
5.Community Services Centre-ศูนย์กลางการให้บริการชุมชน และช่วยเหลือลูกค้าของโครงการ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สวนสาธารณะ ลู่วิ่ง และสนามฟุตซอล
และ 6.Residential Project-โครงการที่อยู่อาศัย โดย FPT เข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย เพื่อรองรับบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญ และผู้บริหาร ที่ทำงานในอารยะฯ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี และลดความจำเป็นในการเดินทาง สอดคล้องกับแนวคิด Work-Live-Play
จุดพลุระบบนิเวศเมืองอุตสาหกรรม
“ชื่อแบรนด์โครงการ อารยะฯ-สื่อถึงอารยธรรม ความเจริญรุ่งเรือง สอดคล้องกับรูปแบบของโครงการที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรม การเติบโตทางธุรกิจ ทั้งยังเป็นคำที่ออกเสียงได้ง่ายสำหรับทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ส่วนดิ อีสเทิร์น เกตเวย์-สื่อถึงทำเลของโครงการที่เชื่อมต่อสู่ภาคตะวันออก และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมหลักแห่งใหม่ของประเทศ”
อัพเดตล่าสุด โครงการเปิดให้นักลงทุนจับจองพื้นที่ ตามแผนจะเริ่มส่งมอบพื้นที่ได้ในปี 2569 เป็นต้นไป ปัจจุบันได้รับความสนใจและเริ่มมีการติดต่อพูดคุยกลุ่มลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์, กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า-EV, กลุ่มธุรกิจยาและเวชภัณฑ์, ธุรกิจโลจิสติกส์ และกลุ่มธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ และยังคงเปิดรับลูกค้าในเซ็กเมนต์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง
“อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์ ไม่ใช่เพียงนิคมอุตสาหกรรม แต่เป็นอสังหาริมทรัพย์เชิงธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ ในรูปแบบของระบบนิเวศเมืองอุตสาหกรรมและนวัตกรรม เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยข้อได้เปรียบทั้งด้านเงินลงทุนที่แข็งแกร่ง ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ ตลอดจนเครือข่ายลูกค้าที่ได้มาจากการผสานความร่วมมือระหว่าง 3 บริษัท จะผลักดันให้โครงการประสบความสำเร็จ ปักหมุดหมายใหม่ในการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้เศรษฐกิจของประเทศ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม”
16/2/2568 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 16 กุมภาพันธ์ 2568 )